hero-image

มีรถยนต์ไฟฟ้าอยากชาร์จไฟบ้าน ติดตั้ง EV Charger ต้องทำยังไงบ้าง?

หลายๆ คนที่กำลังเลือกซื้อรถ EV อาจมีข้อสงสัยว่า ถ้ามีรถ EV แล้ว จำเป็นต้องมี ที่ชาร์จรถ EV ที่บ้านไหม หรือบางคนที่กำลังมีแผนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ก็อยากที่จะชาร์จไฟบ้านของตัวเองเพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องไปหาที่ชาร์จข้างนอกให้วุ่นวาย เลิกงานกลับถึงบ้านก็เสียบชาร์จได้เลย แล้วทีนี้ถ้าอยากติด EV Charger จะต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง วันนี้ซันเดย์จะมาแนะนำให้ทุกคนทราบกัน


Table of Contents

ซื้อรถ EV จำเป็นต้องติด EV Charger ที่บ้านไหม?

สำหรับคำถามที่ว่า ‘จำเป็นต้องติด EV Charger ที่บ้านไหม?’ ซันเดย์ขอบอกว่า ‘ไม่จำเป็น’ หากแต่การมีไว้ที่บ้านนั้นมีข้อดีคือหากเราใช้รถมาทั้งวัน แล้วแบตรถยนต์กำลังจะหมดตอนใกล้ถึงบ้าน ก็อุ่นใจได้เลยว่า เมื่อถึงบ้านแล้วจะได้ชาร์จแน่นอน ไม่ต้องวนหาที่ชาร์จ หรือเสี่ยงหาที่ชาร์จไม่ได้  นอกจากนั้นการมี EV Charger ที่บ้านก็ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก 

ส่วนการติดตั้ง EV Charger ที่บ้านต้องทำอย่างไรและเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ในบทความนี้ซันเดย์รวบรวมขั้นตอน รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ควรรู้มาให้แล้ว


ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน

อย่างแรกเตรียมมิเตอร์ไฟฟ้าให้พร้อมก่อนติด EV Charger

ดูมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้านเราก่อนว่าเป็นแบบไหน เหมาะสมที่จะติดตั้ง EV Charger หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานชาร์จรถยนต์ ซึ่งวิธีเช็กก็สามารถดูได้ที่มิเตอร์ที่บ้านเลย โดยค่าที่เราจะดูมี 2 ส่วน ดังนี้

  • เฟสไฟฟ้า หมายถึงระบบแรงดันไฟฟ้า โดยจะมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ 1 เฟส ที่รู้จักกันในชื่อ Single Phase หรือ 1 Phase 2 Wire และอีกประเภทคือ 3 เฟส หรือ 3 Phase 4 Wire ซึ่งจะต่างกับ 1 เฟส ตรงที่มีแรงดันไฟฟ้ามากกว่า ซึ่งการที่จะเลือกใช้ไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส ก็ต้องพิจารณารุ่นของรถยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติของเครื่องชาร์จที่จะนำมาติดตั้งควบคู่กันไปด้วย 
  • ขนาดแอมป์ของมิเตอร์ หลังจากดูเฟสไฟฟ้าแล้วเราก็จะมาดูกันที่ขนาดมิเตอร์ ซึ่งหมายถึงขนาดแอมป์ของมิเตอร์นั่นเอง สำหรับมิเตอร์ตามบ้านโดยทั่วไปจะมีขนาด 5(15)A 15(45)A หรือ 30(100)A โดยตัวเลขพวกนี้หมายถึงขนาดแอมป์และความสามารถในการใช้ เช่น 15(45)A หมายถึง มิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ สามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 แอมป์ เมื่อเรารู้ว่ามิเตอร์ตัวเองเป็นแบบไหนแล้ว ก็สามารถเช็กได้ว่ามิเตอร์ที่มีเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งทางการไฟฟ้าแนะนำขนาดมิเตอร์ที่เหมาะสมในการติด EV Charger ดังนี้ ไฟ 1 เฟส ให้ใช้มิเตอร์ขนาด 30 แอมป์ หรือ 30(100)A ขึ้นไป หรือ 3 เฟส ให้ใช้มิเตอร์ขนาด 45 แอมป์ 15(45)A ซึ่งหากที่บ้านมีมิเตอร์ขนาดนี้อยู่ก็สามารถติดตั้งที่ชาร์จรถ EV ได้เลย แต่ถ้าใช้มิเตอร์เล็กกว่านี้อยู่ เช่น 5(15)A แอมป์ หรือ 15 แอมป์ ควรแจ้งเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้มีขนาดอย่างน้อย 15(45)A ต้องติดต่อการไฟฟ้าเพื่อขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย
วิธีดูมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับติดตั้ง EV Charger

ตรวจเช็กขนาดสายไฟเมน และสเปคของตู้ MCB

หลังจากเช็กมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว ต่อไปให้เช็กขนาดสายไฟเมน สายไฟเมน (สายประธาน) คือสายไฟฟ้าที่เดินจากมิเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาที่แผงเมนสวิตช์ (ตู้เมนไฟฟ้าหรือตู้ควบคุม MDB) ซึ่งหากสายไฟเมนยังเป็นขนาด 16 มิลลิเมตร ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ขนาด 25 ตารางมิลลิเมตร (ตร.มม.) ซึ่งเป็นขนาดหน้าของสายหรือขนาดของสายทองแดง รวมไปถึงเช็กตู้ Main Circuit Breaker (MCB) ควรใช้ตู้ที่สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุดไม่เกิน 100 แอมป์ด้วย 


ห้ามลืมตรวจเช็กเครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RDC เพราะส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้งาน

เมื่อเกิดการใช้ไฟเกินพอดี เหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ธรรมชาติอย่างฟ้าผ่า อาจส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ไฟดูดกับผู้ใช้งานได้ ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่า บ้านเราได้ติดตั้ง RCD (Residual Current Devices) หรืออุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่ว ไว้หรือไม่ ซึ่งตามมาตรฐานแล้วจะต้องมีพิกัดขนาดกระแสไฟฟ้ารั่วไม่เกิน 30 mA โดยต้องตัดกระแสไฟรั่วได้ภายในระยะเวลาเพียง 0.04 วินาที เมื่อมีไฟรั่วขนาด 5 เท่าของพิกัด (150 mA) แต่ในกรณีที่จะติด EV Charger รุ่นมีระบบตัดไฟอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ RCD เพิ่ม


พิจารณาความสามารถในการรับไฟของ On Board Charger บนตัวรถ ก่อนติด EV Charger

ต้องดูว่า On Board Charger หรือเครื่องชาร์จที่ติดตั้งในตัวรถยนต์ สามารถรับไฟได้ขนาดเท่าไหร่ โดยทั่วไปจะมีขนาดตั้งแต่ 3.6kW ถึง 22kW ขึ้นอยู่กับรถยนต์แต่ละรุ่น ซึ่งค่านี้จะมีผลกับระยะเวลาในการชาร์จ หากมีค่ามากก็จะใช้เวลาในการชาร์จน้อยลง แบตก็จะเต็มเร็วขึ้นนั่นเอง เมื่อทราบค่าการรับไฟของ On Board Charger แล้ว ก็ควรเลือกติด EV Charger ที่มีกำลังไฟที่ใกล้เคียงกัน


รูปแบบของหัวชาร์จรถไฟฟ้า

ต้องดูว่าหัวชาร์จที่เหมาะกับรถของเราเป็นแบบไหน เนื่องจากในปัจจุบันมีหัวชาร์จรถไฟฟ้าหลากหลายแบบ จึงต้องเลือกเครื่องที่มีหัวชาร์จที่เหมาะสมกับรถของเรา หลายคนอาจจะยังสงสัยกันอยู่ว่า หัวชาร์จรถไฟฟ้า มีกี่แบบ เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้หมดแล้วสำหรับรถ EV ทั่วไปที่ใช้กันในไทยจะรองรับหัวชาร์จอยู่ทั้งหมด 2 ประเภทใหญ่ๆ คือแบบ AC และแบบ DC โดยในแต่ละประเภทก็จะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ

รูปแบบของหัวชาร์จรถไฟฟ้า

ทำความรู้จักหัวชาร์จแบบ AC

หัวชาร์จแบบ AC คือการชาร์จไฟแบบกระแสสลับ หรืออีกความหมายนึงก็คือ ชาร์จกับไฟบ้าน โดยกระแสไฟจะวิ่งผ่าน On Board Charger ที่อยู่บนรถยนต์ EV เพื่อทำการแปลงกระแสไฟจากกระแสสลับไปเป็นกระแสตรงก่อน จากนั้นถึงค่อยชาร์จเข้าแบตเตอรี่ EV ซึ่งการชาร์จแบบ AC นั้นจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้นจึงเหมาะกับการชาร์จแบบข้ามคืน ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 4-7 ชั่วโมง เพื่อชาร์จจาก 0-80% แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ

หัวชาร์จรถไฟฟ้า AC รูปแบบต่างๆ
หัวชาร์จรถไฟฟ้า Type 1

หัวชาร์จ Type 1 มีลักษณะหัวต่อแบบ 5 Pin เป็นการชาร์จแบบใช้ไฟ 1 เฟส และรองรับกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 32A หรือ 7.2 kWh นิยมใช้ในรถยนต์ EV ของฝั่งอเมริกา และญี่ปุ่น 

หัวชาร์จรถไฟฟ้า Type 2

หัวชาร์จ Type 2 มีลักษณะหัวต่อแบบ 7 Pin โดยปกติจะสามารถจ่ายไฟที่ 3.7 kWh แต่ผู้ผลิตบางรายพัฒนาให้รองรับไฟ 3 เฟส ซึ่งช่วยให้จ่ายไฟได้มากถึง 11 – 22 kWh 


ทำความรู้จักหัวชาร์จแบบ DC

หัวชาร์จรถไฟฟ้าแบบ DC แตกต่างจากแบบ AC ตรงที่เป็น ‘การชาร์จแบบกระแสตรง’ ซึ่งเวลาเสียบชาร์จกระแสไฟจะไม่ผ่าน Onboard Charger ของรถ แต่จะชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่โดยตรง ทำให้ชาร์จได้เร็ว ซึ่ง หัวชาร์จแบบ DC ก็มีอีกชื่อเรียกที่เป็นที่คุ้นเคยกัน คือระบบ ‘Fast-Charging’ นั่นเอง โดยส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จที่อยู่ตามสถานีชาร์จสาธารณะ ชาร์จแบต 0-80% ใช้ระยะเวลาเพียง 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ถือว่ารวดเร็วใช้ได้เลย

สำหรับหัวชาร์จ DC จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้ 

หัวชาร์จรถไฟฟ้า CHAdeMO

CHAdeMo เป็นระบบการชาร์จอย่างรวดเร็วสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ย่อมาจาก CHArge de Move มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน 

หัวชาร์จรถไฟฟ้า CCS

หัวชาร์จแบบ CCS คือ Combined Charging System แบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทย่อยดังนี้

  • CCS Type 1 เป็นหัวชาร์จที่นิยมกันในประเทศสหรัฐอเมริกา รองรับแรงดันไฟฟ้าที่ 200 V – 500 V
  • CCS Type 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมกันในแถบทวีปยุโรป ลักษณะของหัวชาร์จมีขนาดใหญ่กว่า CCS Type 1 และมีกำลังไฟมากกว่าหัวชาร์จ CCS Type 1
หัวชาร์จรถไฟฟ้า G/BT

เป็นหัวชาร์จประเทศจีนพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ภายในประเทศ เพื่อตอบรับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Sunday Tips! ก่อนลงทุนติด EV Charger ที่บ้าน อย่าลืมตรวจสอบประเภทหัวชาร์จให้ตรงกับรถ EV รุ่นที่ใช้งานอยู่

โดยส่วนมากมักจะแบ่งตามประเทศที่ผลิตดังนี้

  • Type 1 สำหรับรถญี่ปุ่นและแถบอเมริกา เช่น Nissan Leaf, Tesla รุ่นต่างๆ

  • Type 2 สำหรับรถยุโรป เช่น Mercedes-Benz, BMW,  Volvo, Porsche รุ่นต่างๆ ที่เป็นรถ EV

  • Type GB/T สำหรับรถจีน เช่น BYD
  • เลือกจุดติดตั้ง EV Charger

    จุดที่จะติดตั้งที่ชาร์จรถ EV ไม่ควรอยู่ห่างจากที่จอดรถเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายชาร์จโดยทั่วไปจะมีความยาวอยู่ที่ 5-7 เมตร และ EV Charger ควรอยู่ใกล้กับตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าหลัก หรือตู้เมน (MBD) ของบ้าน เพื่อให้เดินสายไฟได้สะดวก และพื้นที่นั้นควรมีหลังคาเพื่อป้องกันฝนในระหว่างการชาร์จ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการกันน้ำของ EV Charger นั้นๆ นอกจากนั้นควรมีการติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่วและสายดินของ EV Charger แยกกับสายดินหลักของบ้าน

    Sunday Tips! ลดภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบไฟของบ้านให้รองรับการติดตั้ง EV Charger

    สำหรับการเพิ่มขนาดมิเตอร์จะต้องมีการปรับปรุงสายไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ รวมถึงปรับเปลี่ยนเมนเบรกเกอร์และตู้ Consumer Unit ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อลดภาระและเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับความปลอดภัย จึงได้มีมาตรฐานการ ติด ตั้ง ev charger จาก กฟภ. และ กฟน. มาในรูปแบบทางเลือกต่างๆ ดังนี้

  • กฟภ. อนุญาตให้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าลูกที่สองสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะการเดินสายเมนที่สองจากมิเตอร์ลูกใหม่ไปถึงจุดติดตั้งโดยตรง โดยมิเตอร์ลูกที่สองไม่จำเป็นต้องมีขนาดและประเภทเดียวกันกับมิเตอร์ไฟฟ้าลูกแรก

  • กฟน. อนุโลมให้ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถขอติดตั้ง EV Charger เพิ่มจากโหลดการใช้ไฟฟ้าเดิม โดยติดตั้งสายเมนวงจรที่สองสำหรับ EV Charger โดยเฉพาะได้ โดยจะต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ให้เหมาะสม ทั้งนี้กำลังไฟในการใช้งานรวมทั้งหมดจะต้องไม่เกินขนาดที่มิเตอร์รองรับ
  • เลือกจุดติดตั้ง EV Charger ให้ใกล้กับจุดที่ต้องการชาร์จ

    ติด EV Charger ยี่ห้อไหนดี?

    หลายคนอาจจะมีคำถามว่าติด EV Charger ยี่ห้อไหนดี ถึงจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย ใช้งานง่ายทางซันเดย์ก็ได้รวบรวมลิสต์แบรนด์ EV Charger ชั้นนำมาให้แล้วดังนี้

    • Siemens รุ่น VersiCharge Gen 3
    • Delta รุ่น AC Max
    • Schneider รุ่น EVlink Wallbox
    • Wallbox รุ่น Pulsar Plus
    • Enel X JuiceBox
    • ABB Terra AC Wallbox
    • Besen EV Charger
    • Viridian Eco lite Charger

    *สำหรับข้อมูลเชิงเทคนิคโปรดติดต่อผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ


    เมื่อเตรียมตัวเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็สามารถเลือกซื้อ EV Charger ได้เลย โดยอย่าลืมว่าต้องเลือกหัวชาร์จและกำลังไฟในการชาร์จให้เหมาะสมกับรถ EV ของเรา นอกจากนั้นควรเลือกซื้อ EV Charger ที่มีมาตรฐาน มีการรับรองจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือมีการรับรองจากมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ระดับสากล หรือ IEC (International Electro technical Commission) และมีบริการติดตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าติดตั้งอย่างถูกต้องและมีความปลอดภัยมากที่สุดนั่นเอง 

    เมื่อมี EV Charger แล้ว อย่าลืมเพิ่มความอุ่นใจให้กับการใช้รถ EV ด้วยการซื้อประกันรถยนต์ไฟฟ้าออนไลน์จากซันเดย์ ประกันที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานรถ EV โดยเฉพาะ