hero-image

4 สไตล์องค์กรแบบไหน โดนใจคนทำงานรุ่นใหม่เต็มๆ

“คับที่อยู่ง่าย คับใจอยู่ยาก” คำกล่าวนี้ใช้ได้เสมอโดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง “ที่ทำงาน” ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ ที่เราแทบจะใช้ชีวิตอยู่กับมันเป็นอันดับสองรองจากบ้านเลยทีเดียว

ซึ่งเจ้าสถานที่ที่เราจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่กับมันนานมากในแต่ละวันนี่เอง ในมุมมองของคนทำงานรุ่นใหม่ การเลือกที่ทำงานในบริษัทฯ หรือองค์กรต่างๆ นั้น ก็แทบไม่ต่างจากการเลือกที่อยู่อาศัยซึ่งมีรายละเอียดมากมายที่พวกเขาจะให้ความสนใจนอกเหนือไปจากเรื่องของความมั่นคงและค่าตอบแทนอีกด้วย

ยกตัวอย่างความต้องการของพวกเขา เช่น งานที่ได้รับนั้นมีรูปแบบของงานที่สามารถตอบโจทย์กับตัวเขาได้จริงไหม? จะมีได้รับโอกาสเติบโตในสายงานในอนาคตหรือไม่? ลักษณะการทำงานมีความเข้ากันได้กับไลฟ์สไตล์แค่ไหน? หรือมีทำเลที่ตั้งสะดวก รวมไปถึงมีสังคมภายในออฟฟิศที่เข้ากันได้หรือเปล่า? ฯลฯ

จากที่กล่าวมา ด้วยความต้องการของคนทำงานที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนี่เอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ฝั่งผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจในความต้องการเหล่านี้ หากอยากจะดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำงาน รวมถึงสามารถสร้างสภาพแวดล้อมในออฟฟิศที่สามารถดึงประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาออกมาได้อย่างเต็มที่

โดยในครั้งนี้ ซันเดย์จะมาวิเคราะห์ถึงความต้องการของเหล่าคนทำงานในยุคใหม่ ว่าการที่พวกเขาจะตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับองค์กรซักแห่งในปัจจุบันนั้น ปัจจัยอะไรที่องค์กรควรจะต้องมี เพื่อดึงดูดพวกเขาบ้าง?

Photo by Akson on Unsplash

1. องค์กรที่มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลา/สถานที่ แต่ไม่ละเลยประสิทธิภาพ

ในยุคนี้สิ่งที่เรียกว่า “Work Life Balance” เป็นสิ่งที่คนทำงานรุ่นใหม่จัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของชีวิตการทำงาน ซึ่งบางคนก็ให้ความสำคัญยิ่งกว่ารายได้เสียอีก ดังนั้นหากผู้ประกอบการสามารถจัดการให้องค์กรของตน มีความยืดหยุ่นด้านเวลาการเข้างานและสถานที่สำหรับใช้ในการทำงานได้ ก็จะกลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นสำคัญที่จะช่วยดึงดูดให้พวกเขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นข้อได้เปรียบในการซื้อใจเหล่าพนักงานรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

เริ่มต้นด้วยเวลาการเข้างาน ปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มมีการกำหนดช่วงเวลาเข้างานได้อิสระ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ เช่น กำหนดเวลาทำงานไว้วันละ 8 ชม./ต่อวัน หากเข้าเช้าก็สามารถกลับได้เร็ว หรือหากใครอยากจะทำงานวันละ 10 ชม./วัน ก็จะสามารถเลือกหยุดงานได้ 1 วันเต็มๆ เป็นต้น

นอกจากเวลาทำงานแล้ว เรื่องของสถานที่ทำงานก็สามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น องค์กรอาจจะให้สิทธิ์พนักงานสามารถเลือกทำงานนอกออฟฟิศได้สัปดาห์ละ 1-2 วัน หากไม่มีภารกิจต้องเข้ามาประชุมร่วมกัน ก็จะช่วยให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลาสำหรับการใช้ชีวิตของตนเองได้อิสระและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น

แน่นอนว่าการที่จะสร้างความยืดหยุ่นได้แบบนั้น ตัวองค์กรก็จะต้องวางรากฐานของระบบการทำงานให้รองรับเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้อุปกรณ์การทำงานที่เน้นการพกพาเป็นหลัก รวมถึงปรับกระบวนการทำงานทั้งหมดให้ทำผ่านระบบคลาวด์ ระบบการติดต่อสื่อสารที่ไว้ใจได้ ฯลฯ ซึ่งพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำงานได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ที่ออฟฟิศหรือไม่นั่นเอง

Photo by Mimi Thian on Unsplash

2. องค์กรที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสม มีสวัสดิการโดนใจ ตอบโจทย์พนักงานรุ่นใหม่ได้จริง

นอกจากเรื่องผลตอบแทนที่ควรจะเหมาะสมกับหน้าที่ที่รับผิดชอบแล้ว สิ่งที่คนทำงานรุ่นใหม่ต้องการจากองค์กรนอกเหนือจากนั้นก็คือ “สภาพแวดล้อม” และ “สวัสดิการ” ในการทำงานที่โดนใจและสามารถปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของคนทำงานจริงๆ

ในงาน Techsauce Culture Summit 2019 ที่จัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Google ได้เปิดเผยว่าเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากการคัดเลือกคนทำงานที่ใช่แล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับให้พวกเขาเจริญเติบโตก็เป็นสิ่งสำคัญ  ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีกว่า Google ถือเป็นองค์กรที่ใส่ใจเรื่องสวัสดิการคนทำงานได้อันดับต้นๆ ของโลก อาทิ โรงอาหารที่ทานฟรี ฟิตเนสที่หลากหลาย คอร์สพิเศษสำหรับออกกำลังกาย หรือกระทั่งการเปิดพื้นที่ให้นำสัตว์เลี้ยงมาดูแลในออฟฟิศ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายในการทำให้พนักงานสบายใจทั้งสิ้น

นอกจากสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์แล้ว เรื่องของ “สวัสดิการ” ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะจูงใจคนทำงานยุคใหม่ได้มากเช่นเดียวกัน โดยทางเว็บไซต์ JobThai ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศ พบว่านอกเหนือจากเรื่องของค่าตอบแทน และวันหยุดวันลาแล้ว สวัสดิการด้าน “ประกันสุขภาพ” ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว ประกันชีวิต ฯลฯ ซึ่งถือเป็นสวัสดิการที่พนักงานยุคใหม่ต้องการนอกเหนือจากเรื่องรายได้

และในยุคปัจจุบัน หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกประกันสุขภาพที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการรายบุคคลจะยิ่งได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะพนักงานแต่ละคนล้วนมีความจำเป็นแตกต่างกัน บางคนอาจจะคาดหวังเรื่องของการคุ้มครองการรักษาผู้ป่วยนอก (IPD) มากเป็นพิเศษเพราะจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ ซึ่งพวกเขาก็จะสามารถเลือกปรับสัดส่วนความคุ้มครอง หรือจะเลือกซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมก็ทำได้ไม่ยากจนเกินไป

Photo by Headway on Unsplash

3. องค์กรที่ท้าทาย มอบโอกาสให้เรียนรู้และได้เติบโตอย่างไร้ข้อจำกัด

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่คนทำงานรุ่นใหม่มักจะเลือกพิจารณาองค์กรที่ต้องการเข้าไปทำงาน นั่นก็คือพวกเขาเล็งเห็นแล้วว่าองค์กรแห่งนี้จะมีเส้นทางให้พวกเขาสามารถพัฒนาตนเองในสายอาชีพ (Career Path) ที่ถนัดได้แค่ไหน เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่คนทำงานหัวก้าวหน้าและต้องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอคาดหวัง

โดยในกระบวนการเรียนรู้และเติบโตที่จำเป็น องค์กรก็จะต้องเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน สามารถดึงเอาศักยภาพสูงสุดที่ตัวเขามี เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทีมของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงลำดับชั้นของสายบังคับบัญชาที่วุ่นวายจนเกินไป ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ องค์กรยุคใหม่ควรจะพิจารณาปรับโครงสร้างให้มีรูปแบบที่เรียกว่า “Holacracy” หรือโครงสร้างองค์กรแบบระบบอะมีบา ซึ่งหมายถึงระบบการบริหารงานที่แบ่งหน้าที่ออกเป็นทีม ทำงานแบบ Project Base ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็จะได้รับบทบาท (Role) ที่สำคัญในแต่ละทีม เช่น พนักงานฝ่ายการตลาดหนึ่งคน อาจจะต้องอยู่ในหลายๆ โครงการที่จำเป็นต้องการใช้สื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหน้าที่ของเขาก็คือการสนับสนุนทีมด้านการตลาดโดยภาพรวม เพื่อให้ผลงานที่ทีมสร้างขึ้นมานั้นประสบความสำเร็จสูงสุด

ซึ่งจุดเด่นของโครงสร้างองค์กรแบบ Holacracy นี้ก็คือ พนักงานที่อาสาตัวเองเข้าไปอยู่ในทีมย่อยหลายๆ ทีมหรือหลายโครงการในเวลาเดียวกัน เวลาประเมินผลงานคนกลุ่มนี้ก็ย่อมจะได้ผลงานที่มากกว่า เนื่องจากต้องรับผิดชอบกับงานหลายโครงการ หลายบทบาท ส่วนประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ ก็คือความคล่องตัวในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะแต่ละทีมมีสิทธิ์ในการตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้บริหารมาเคาะให้ ระบบนี้จะทำให้หัวหน้าแต่ละทีมมีความรู้สึกเป็นเจ้าของต่องานของตัวเองอย่างแท้จริง และผู้นำองค์กรก็ควรอยู่ในบทบาทโค้ชที่คอยให้คำปรึกษา แต่ไม่เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของหัวหน้าทีม

สำหรับตัวอย่างในการนำเอาโครงสร้างองค์กรแบบนี้มาใช้ ก็คือบริษัท Zappos หนึ่งในแพลตฟอร์ม E-commerce ขายรองเท้ารายใหญ่ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ Amazon ซึ่งถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่ริเริ่มนำเอาระบบ Holacracy นี้เข้ามาปรับใช้งานอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2015 โดยทางทีมผู้บริหารได้ตั้งเป้าหมายให้ Zappos เป็นองค์กรที่พนักงานทุกคนสามารถขับเคลื่อนงานได้เอง และสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ (Self-organiztion & Self-management) ด้วยการวางกลุ่มงานเป็นทีม และนำเอาระบบซอฟต์แวร์มาช่วยให้พนักงานได้รับรู้ความเป็นไปขององค์กร

แน่นอนว่าการบริหารจัดการองค์กรในสไตล์ Holacracy นอกจากจะเป็นโครงสร้างที่เอื้อให้พนักงานผู้แสวงหาความก้าวหน้าและการเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้มีหนทางในการยกระดับความสามารถของตัวเองที่ชัดเจนขึ้นแล้ว การที่คนทำงานสามารถผลัดเปลี่ยนโครงการที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไม่ตายตัว ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกไม่น่าเบื่อจำเจกับเนื้องานแบบเดิมได้อีกด้วย

Photo by Xtra, Inc. on Unsplash

4. องค์กรที่มีเสน่ห์ ได้ทำงานที่สร้างคุณค่าให้กับผู้คน

จากผลการวิจัยในหัวข้อ Employee Perspective 4.0 ภายในปี 2019 โดยบริษัทแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย พบว่าในปัจจุบันบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดอันดับแรกในสายงานวิศวะนั้น คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รองลงมาคือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ส่วนสายงานหลักเกี่ยวกับด้านไอทีและการตลาด จะมีรายชื่อของบริษัทรุ่นใหม่อย่าง Google, LINE ก็ติดโผอยู่ในอันดับต้นๆ เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทยุคใหม่นี้ ต่างก็มีชื่อเสียงในแง่ของการสร้างปรากฏการณ์ทางสังคม และได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตไปเสียแล้ว

อย่างที่กล่าวไป การที่พนักงานได้ร่วมงานกับองค์กรที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคม รวมทั้งเป็นองค์กรที่สร้างชื่อเสียงในทางที่ดีอยู่เสมอมา (อย่างเช่น Google และ LINE) นอกจากจะส่งผลดีต่อประวัติการทำงานของตัวพนักงานเองได้แล้ว สิ่งสำคัญก็คือการก่อให้เกิด “ความภาคภูมิใจ” ในเนื้องานที่ตนเองกำลังทำอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเน้นย้ำให้พนักงานทุกคนได้รับรู้ว่างานที่ทำอยู่นั้น ล้วนเชื่อมโยงไปยิ่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็น “ภารกิจสำคัญ” ที่ไม่เพียงแต่เติมเต็มชีวิตของเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างผลงานที่จะช่วยยกระดับสังคมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นอีกเหตุผลที่จะทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายนี้อยากฝากถึงผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจต่างๆ เพราะไม่ว่าคุณจะทุ่มทุนไปกับการค้นหาบุคคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมากเพียงใด หากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีสไตล์การทำงานที่เหมาะสม มีสวัสดิการที่โดนใจ รวมถึงมีโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ที่เอื้อต่อการเติบโตแล้ว เราก็ไม่อาจจะรั้งให้คนทำงานคุณภาพอยู่กับเราได้นานเพียงพอ อย่างที่มีคนกล่าวเอาไว้ว่า

“การค้นหาบุคคลากรผู้มีความรู้ความสามารถไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การดึงให้พวกเขาเหล่านั้นทำงานอยู่กับเราได้อย่างยาวนานเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า”