hero-image

สวัสดิการพนักงานแบบใดที่ไม่ต้องนำไปเสียภาษีบุคคลธรรมดา

สวัสดิการพนักงานแบบใดที่ไม่ต้องนำไปเสียภาษีบุคคลธรรมดา

สำหรับพนักงานบริษัทนั้น สวัสดิการพนักงานบางอย่างที่ทางบริษัทจ่ายให้กับเรา จะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินได้ประจำปีเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสวัสดิการบางแบบที่พนักงานหรือลูกจ้างไม่ต้องนำมารวมในการคำนวณภาษีเงินได้อยู่ แล้วสวัสดิการดังกล่าวได้แก่อะไรบ้าง FlowAccount จะพาไปดูกัน

นิยามของเงินได้ ที่พนักงานได้รับแบบใดต้องเสียภาษี     

ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตราที่ 40 (1) แห่ง ระบุว่า เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ฯลฯ 

ซึ่งลูกจ้างหรือพนักงานมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ที่สามารถคำนวณได้เป็นเงินนี้ไปรวมในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย 

นิยามสวัสดิการที่พนักงานได้รับในทางกฎหมายคืออะไร สวัสดิการ หมายถึง บริการหรือกิจกรรมใดๆ ที่หน่วยงานราชการหรือองค์กรธุรกิจเอกชนจัดให้มีขึ้น เพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน หรือผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรนั้นๆ ได้รับความสะดวกสบายในการทำงาน มีความมั่นคงในอาชีพ มีหลักประกันที่แน่นอนในการดำเนินชีวิตหรือได้รับประโยชน์อื่นใด นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญและกำลังใจที่ดี เพื่อจะได้ใช้ กำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญาความสามารถของตนในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่

สรุปสวัสดิการ

สวัสดิการบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นจากกรมสรรพากร ไม่ต้องนำมาเสียภาษี มีดังต่อไปนี้ 

  • ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง    

สำหรับค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 และการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฉบับต่างๆ  มีดังนี้

(1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้าง หรือผู้รับหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรือผู้รับทํางานให้ ได้จ่ายไป โดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น

(2) ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกําหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตรา ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 


(3) เงินค่าเดินทาง ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจําเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิม ภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง

  • รถรับ-ส่งพนักงาน    

เฉพาะกรณีรับส่งพนักงานตามเส้นทางที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด ตามเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน โดยให้บริการแก่พนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเป็นการทั่วไป และเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ไม่ถือเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ลูกจ้างจะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง 

  • ค่ารักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานตามจำนวนที่พนักงานได้จ่ายไปจริงในการรักษาพยาบาล พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) 

  • ค่าเบี้ยประกันภัย    

กรณีเป็นประกันภัยกลุ่ม ไม่ถือเป็นเงินได้พนักงานได้รับยกเว้นตามข้อ 2(77) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (เฉพาะส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล) ส่วนประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ที่ไม่ใช่ประกันภัยกลุ่ม ถือเป็นรายได้พนักงานตาม ม.40(1) ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีตาม ม.56

  • ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับ ตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุ เกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง 300 วันสุดท้ายที่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีค่าจ้าง หรือเงินเดือนค่าจ้างของการทํางาน 

  • เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ    

ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

  • ค่าคลอดบุตร

กรณีเงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตร หากบริษัทฯ ได้จ่ายเงินให้แก่พนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปและเป็นไปตามระเบียบของบริษัทฯ ถือเป็นค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้าง สำหรับการรักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง 

ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

  • เครื่องแบบพนักงาน

เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างหรือพนักงานได้รับจากนายจ้าง ในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอก ในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี ค่าชุดฟอร์มพร้อมค่าตัดดังกล่าว พนักงานได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (34) ทั้งนี้  

“เครื่องแบบ” หมายความว่า เครื่องแต่งกาย รวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กําหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบ เครื่องแต่งกายที่ทําด้วยโลหะ หรืออัญมณีที่มีค่า เช่น เงิน ทองคํา ทับทิม หยก  

“เสื้อนอก” หมายความรวมถึง ชุดไทยพระราชทานและเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกาย ไปในงานสําคัญต่าง ๆ

  • เงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทย

ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 204 (พ.ศ.2539) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2539 เป็นต้นไป

จะเห็นได้ว่า สวัสดิการบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นจากกรมสรรพากรไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีนั้น มักเป็นสวัสดิการที่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเป็นการทั่วไป ไม่ได้ให้เพียงพนักงานคนใดคนหนึ่ง โดนทางบริษัทเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ของสวัสดิการนั้น และได้มีการแจ้งให้พนักงานทราบเป็นการทั่วไปมิใช่นโยบายภายในที่รู้กันเฉพาะพนักงานบางราย ซึ่งนอกจากสวัสดิการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น การจัดงานเลี้ยงในวันปีใหม่ (ไม่รวมกรณีที่มีจับฉลากของรางวัล ซึ่งมูลค่าของรางวัลที่ได้รับต้องนำมาคำนวณในการเสียภาษี) ค่าฌาปนกิจศพ, ทุนการศึกษาแก่พนักงาน และการจัดฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น 
สำหรับพนักงานบริษัทที่มีหน้าที่ดูแลข้อมูลของพนักงาน และบันทึกค่าสิทธิสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้โปรแกรมบัญชี FlowAccount ซึ่งมีระบบจัดการเงินเดือนออนไลน์ ในการช่วยบันทึกข้อมูล ทำเงินเดือน และบันทึกค่าใช้จ่ายของพนักงานได้ อาทิ ประกันสังคม หัก ณ ที่จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล และสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ที่สามารถปรับเพิ่ม/ลด ได้ด้วยตนเองทุกเดือน สามารถทดลองใช้งานได้ฟรี 30 วัน และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ FlowAccount