hero-image

คนทำงานยุคใหม่จะลงทุนยังไงให้คุ้มค่า? ในเวลาที่สถานการณ์คาดเดาได้ยากของปี 2021

หลังจากที่เราทุกคนต่างก็ผ่านพ้นปีที่แล้วกันมาได้อย่างยากลำบาก ซันเดย์เชื่อว่าหลักคิดในการเก็บออมและการลงทุนของคนทำงานในปี 2021 นี้ ก็น่าจะมีการเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะแทนที่จะมุ่งเน้นการลงทุนแบบหวังผลกำไรตอบแทนที่มีความเสี่ยงสูง เราทุกคนก็น่าจะไปโฟกัสที่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางการเงินของชีวิตเป็นหลัก

ซึ่งในครั้งนี้เอง ซันเดย์ก็ได้รวบรวมเอาข้อมูลและบทวิเคราะห์ทางการการเงินและการลงทุนต่างๆ มาให้คนที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ตัดสินใจว่า ในปีที่สถานการณ์ไม่แน่นอนแบบนี้เราควรเอาเงินเก็บที่มีหรือโบนัสที่ได้ไปลงทุนหรือเก็บออมยังไงดีนะ?

ในปี 2021 นี้ แนวโน้มของเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยจะเป็นยังไง?

ก่อนที่เราจะเริ่มมองหาหนทางเก็บออมเงินหรือลงทุน ก็ควรที่จะได้รับรู้ภาพรวมของสถานการณ์บ้านเราในช่วงนี้เสียก่อน ซึ่งหากเราลองวิเคราะห์จากแนวโน้มด้านการลงทุนของสถาบันวิจัยกรุงศรี ได้มีมุมมองที่น่าเป็นห่วงว่า ในปี 2021 นี้ เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้าและมีแต่ความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ความรุนแรงในการระบาดของ CODID-19 ระลอกใหม่ที่ไม่แน่ชัด การชุมนุมการทางเมืองที่มีความยืดเยื้อคาดเดาได้ยาก การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวที่ล่าช้ากว่าที่คาด รวมถึงปัญหาการว่างงานของหนี้ของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังมองว่าประเทศไทยมีโอกาสจากการพึ่งพากันภายในประเทศเพื่อนบ้านที่มากขึ้น (Rising Regionalization) ก็น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออก การลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต่อไป

สอดคล้องกับทางบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ที่ได้คาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างเป็นบวกว่า เศรษฐกิจไทยในตอนนี้ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และก็เริ่มจะมองเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีข้างหน้า จนกว่า GDP โดยรวมของประเทศจะฟื้นกลับมาถึงระดับก่อนที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งธุรกิจที่จะสามารถฟื้นตัวกลับมาเร็วหน่อยคือกลุ่มการเงิน การสื่อสาร และการธนาคาร แต่ทั้งนี้ทุกอย่างก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในอนาคต

ในสถานการณ์ไม่แน่นอน เราต้องยึดมั่นเป้าหมายของการลงทุนให้ชัดเจน

ในเมื่อเราทราบถึงสถานการณ์ในภาพใหญ่ของประเทศที่มีแต่ความไม่แน่นอนไปแล้ว การกำหนดเป้าหมายของการลงทุนของคนทำงานตัวเล็กๆ อย่างเราในปีนี้ก็ควรจะใส่ใจด้าน “ความมั่นคง” เป็นหลัก ดังนั้นเราควรจะตัดตัวเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงออกไป อาทิ ไม่ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการลงทุนในค่าเงินที่มีความผันผวน ไม่เข้าไปลงทุนกับตลาดอนุพันธ์ที่เราไม่มีความเข้าใจเพียงพอ หรือไม่กู้เงินมาลงทุนในสินทรัพย์ขนาดใหญ่จนเกินตัว ฯลฯ เป็นต้น

แล้วจะลงทุนอะไรดีล่ะ? ที่จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายด้านความมั่นคงของฐานะทางการเงินของเรา ในฐานะของคนทำงานออฟฟิศ สิ่งแรกที่ควรใส่ใจในสถานการณ์เช่นนี้ ก็คือ ควรเลือกการลงทุนที่สามารถ “ลดหย่อนภาษี”  ได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ควรต้องทำ รองลงมาก็คือ การพิจารณาเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับชีวิตของเราและครอบครัวได้ อย่างเช่น การลงทุนกับประกันชีวิต การเลือกซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ช่วยทั้งลดความเสี่ยง รวมถึงได้ลดหย่อนภาษีได้ไปในตัว หรือจะเลือกลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ อย่างการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการอยู่อาศัยส่วนตัวหรือการปล่อยเช่า แต่ต้องให้แน่ใจว่าคุณจะสามารถแบกรับความเสี่ยงเรื่องการผ่อนชำระในระยะยาวได้จริง ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้เช่าได้ง่ายนัก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้แบบนี้

ลงทุน, คนทำงาน, คุ้มค่า, ลงทุนในกองทุนรวม, ลงทุนในประกัน, เป้าหมายในการลงทุน, ประกันสุขภาพ,ประกันชีวิต

แล้วจะเลือกลงทุนแบบไหนที่จะลดหย่อนภาษีได้แบบคุ้มค่าและมั่นคงที่สุด?

สำหรับการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับคนทำงานทั่วไปนั้น ความเห็นของเราขอเสนอแนะทางเลือกในการลงทุนทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้

1. เลือกลงทุนในกองทุนรวมแบบ SSF 

กองทุนรวม SSF (Super Savings Fund) คือกองทุนรวมแบบพิเศษที่ทางภาครัฐได้ออกแบบมาให้บุคคลธรรมดาอย่างเราๆ สามารถเลือกลงทุนเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตั้งแต่ 2020 เป็นต้นไป ซึ่งนี่ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ (ขึ้นอยู่กับรูปแบบของกองทุน) ที่ออกมาทดแทนการลงทุนแบบ LTF (Long Term Equity Fund) ซึ่งหมดเขตการลงทุนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

สำหรับเงื่อนไขในการลงทุนของกองทุน SSF นั้นไม่ยากเลย เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ซึ่งซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี (แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท) ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณมีรายได้ทั้งปีประมาณ 500,000 บาท คุณจะสามารถซื้อ SSF ได้ไม่เกิน 150,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมคำนวนค่าลดหย่อนภาษีอื่นๆ ก่อนซื้อก่อนด้วย

สำหรับกองทุนรวม SSF นั้น นอกจากจะช่วยลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังเหมาะกับคนที่ต้องการลงทุนให้เงินเติบโตได้ในระยะยาว เพราะจะขายกองทุนรวมนี้ได้ต้องใช้เวลา 10 ปีขึ้นไป ซึ่งจะต่างจากกองทุนรวม RMF ที่จะขายได้เมื่อเราอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น

โดยสรุปก็คือ ถ้าคุณมีรายได้ไม่มากและไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในฐานที่สูง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนซื้อกองทุน SSF เพื่อลดหย่อนภาษีก็ได้ แต่หากใครที่มีฐานภาษีสูงและต้องการลงทุนเพื่อความมั่นคงในระยะยาว รวมถึงได้ลดหย่อนภาษีด้วย นี่คือตัวเลือกหลักในการลงทุนของปี 2021 สำหรับคุณ

สามารถตรวจสอบข้อมูลผลตอบแทนของกองทุนรวม SSF ย้อนหลังได้ ที่นี่

2. เลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี่ยงชีพ RMF

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF (Retirement Mutual Fund) คือกองทุนที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้คนทั่วไปทำการออมเงินระยะยาวเก็บเอาไว้ใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน นอกจากนั้นยังเป็นอีกหนึ่งกองทุนรวม ที่คนทำงานจะสามารถเลือกซื้อเอาไว้เพื่อลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากกองทุน SSF และการซื้อประกัน

ซึ่งเงื่อนไขของการลงทุนสำคัญของกองทุน RMF นั่นก็คือ “ไม่มีเงินปันผล” และไม่สามารถขายหน่วยลงทุนที่เราซื้อไปได้ก่อนที่ผู้ซื้อจะอายุ 55 ปีขึ้นไป นอกจากนั้นคนที่ต้องการซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีจะสามารถใช้จำนวนเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนจริงมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด 30% จากเงินได้ทั้งหมด (แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ยกตัวอย่างก็คือ ถ้าคุณมีรายได้ 700,000 บาทต่อปี ก็จะซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 210,000 บาท นั่นเอง

หากจะถามว่ากองทุนรวม RMF นั้นเหมาะกับใคร? เหมาะสำหรับคนทำงานบริษัทฯ ทุกคน ที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินในวัยเกษียณมารองรับ (หรือคนที่มีสวัสดิการอยู่แล้วแต่ต้องการออมเพิ่ม) รวมถึงเป็นการลงทุนจำเป็นสำหรับผู้ที่มีรายได้ต้องเสียภาษีทุกคน

จุดสำคัญอีกอย่างที่ต้องตัดสินใจก่อนเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF ก็คือ มีกองทุนหลากหลายประเภทและมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้เราขอแนะนำให้คุณเน้นลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ ซึ่งเหมาะกับผู้ลงทุนที่เน้นรักษาเงินต้น ไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากนัก เป็นต้น

ตัวอย่างเครื่องมือ ที่ช่วยในการคำนวณภาษีและสัดส่วนการลดหย่อน ภาษีง่ายๆ
https://www.kasikornasset.com/Pages/CalTax.html
https://www.tiscoasset.com/th/asset/html/tax-calculator.jsp
https://www.uobam.co.th/th/tax-calculation

ซึ่งนอกจากเครื่องมือที่ว่ามาแล้ว อีกหนทางที่ช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจซื้อกองทุนรวมได้เหมาะกับความเสี่ยงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทั้ง RMF หรือ SSF นั่นก็คือการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือเลือกซื้อขายกองทุนผ่านธนาคารที่คุณมีบัญชีอยู่ได้ง่ายๆ เพียงลองสอบถามกับพนักงาน

3. เลือกลงทุนในประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

การทำประกัน ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหลักประกันเมื่อเกิดความเสี่ยง ซึ่งประกันนั้นมีหลากหลายประเภทและมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับประกันที่เราสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น จะมีเฉพาะประกันชีวิต (ทั้งประกันแบบทั่วไป ประกันแบบบำนาญ) ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และประกันสุขภาพ (ประกันของตนเอง หรือประกันสุขภาพสำหรับพ่อแม่) ซึ่งก็จะแตกแยกย่อยออกไปได้อีกหลายประเภท ดังนั้นเราจะต้องพิจารณาเงื่อนไขให้ดีก่อนว่า สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อประกัน

โดยเงื่อนไขของการลงทุนด้วยการซื้อประกันชีวิตนั้น นอกจากความคุ้มครองที่เราจะได้รับตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แล้ว ยังสามารถนำเอาค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนท่ีจ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพตัวเอง (ไม่เกิน 15,000 บาท) แล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ส่วนเงื่อนไขของการประกันสุขภาพก็จะแตกต่างออกไป เพราะสามารถนำเอาค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อไปเท่านั้น (รวมค่าลดหย่อนจากประกันทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกัน) และส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นประกันสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ รวมถึงประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses) ประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long-Term Care) และการประกันอุบัติเหตุ เฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะและการแตกหักของกระดูก ซึ่งต้องย้ำอีกครั้งว่าควรศึกษาหรือสอบถามตัวแทนประกันให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน

อย่าลืมลงทุนเพื่อสุขภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองอยู่เสมอ

นอกจากการลงทุนไปกับกองทุนรวมและประกันแล้ว สิ่งสำคัญสำหรับคนทำงานในยุคนี้ นั่นก็คือ ”การลงทุนกับตัวเอง” เพื่อพัฒนาความสามารถและศักยภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อคุณมีประโยชน์ต่อองค์กร ต่อลูกค้า ต่อนายจ้าง หรือต่อภาคธุรกิจของคุณมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้รับมูลค่าที่คู่ควรต่อตัวคุณกลับมามากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญอย่างที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ คุณต้องไม่ลืมที่จะ “ลงทุนเพื่อสุขภาพ” ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต เพราะร่างกายที่แข็งแรงถือเป็นสิ่งสำคัญอันไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราต้องการความใส่ใจด้านสุขภาพเป็นพิเศษอย่างในปัจจุบัน