hero-image

วิธีจูงใจพนักงานให้อยู่กับองค์กร เมื่อบริษัทเริ่มปรับมาทำงานตามปกติในยุค COVID-19

วิกฤติ COVID-19 ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมกับเศรษฐกิจและผลประกอบการขององค์กรในภาพใหญ่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบในภาพเล็กต่อรูปแบบการทำงาน และการบริหารจัดการพนักงานในองค์กรอีกด้วย 

โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายๆ องค์กร นั่นก็คือการเผชิญหน้ากับภาวะการลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) ที่เกิดขึ้นหลังจาก COVID-19 เริ่มคลื่คลาย สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร? ในฐานะของ HR เราควรใช้วิธีไหนเพื่อให้สามารถจูงใจพนักงานเก่งๆ อยู่กับองค์กรได้นานขึ้น? รวมถึงต้องปรับรูปแบบการทำงานยังไงให้ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่พนักงานต้องการมากที่สุด?

ซันเดย์ได้นำเอาเนื้อหาที่ได้พูดคุยกับคุณจูน “คุณนรีภัสร์ ลพานุกรม“ Country Manager จาก GetLinks มาสรุปและเรียบเรียงเพื่อให้ฝ่ายบุคคล รวมถึงเจ้าของธุรกิจ สามารถนำไปปรับใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสามารถคลิกรับชมรายการ Thank God It’s Sunday EP.6 แบบเต็มๆ ได้ ที่นี่

Table of Contents

วิธีจูงใจให้พนักงานเก่งๆ ยังอยู่กับองค์กรของเรา (Retain) หลังวิกฤติ COVID-19

คุณจูนได้แชร์ข้อมูลจากผลสำรวจของ FlexJobs ที่ได้รวบรวมความเห็นจากพนักงานกว่า 2,181 ราย ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 พบกว่า 39% จากพนักงานทั้งหมด ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น โดยมีพนักงานกว่า 84% ให้ความเห็นตรงกันว่า การที่ไม่ต้องเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ ช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก และสามารถนำเวลาที่ได้ไปใช้ทำงานได้มากกว่าเดิม

จากข้อมูลนี้ สามารถสรุปได้ว่าสิ่งที่องค์กรยุคใหม่และฝ่ายบุคคลควรปรับใช้ เพื่อจูงใจพนักงานจากยกเลิกมาตรการ WFH มีดังนี้

  • ควรเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ให้ไลฟ์สไตล์การทำงานในองค์กรมากขึ้น อาจไม่จำเป็นต้องให้พนักงานทุกคนเข้าออฟฟิศ 5-6 วัน/สัปดาห์ อีกต่อไป แต่แนะนำให้ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร
  • บางองค์กรอาจจะเปิดโอกาส ให้พนักงานได้เลือกด้วยตนเองได้ว่าจะเข้า-ออก จากออฟฟิศในช่วงวันไหน และเวลาใด เพื่อลดความแออัด แลเพิ่มความสะดวกสบายให้มากขึ้น
  • สำหรับองค์กรที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานอยู่แล้ว (เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีไลน์การผลิต) อาจพิจารณาเพิ่มโอกาสให้พนักงานได้ Work from anywhere มากขึ้น

อะไรคือปัจจัยที่อาจทำให้พนักงานลาออกหลังยุค COVID-19

จากผลการวิเคราะห์ของทาง GetLinks พบว่า ผลกระทบหลังจากการ Work from home นั้น อาจส่งผลให้พนักงานแต่ละคนเกิดคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต (Value proposition) ของเค้าคืออะไร? ซึ่งหากองค์กรไม่สามารถตอบรับความต้องการของพวกเขาได้เพียงพอ ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่พนักงานส่วนใหญ่เลือกที่จะลาออก หลังจากที่ยกเลิกมาตรการ Work from home และกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเต็มรูปแบบ

  • บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า เค้าจำเป็นต้องทำงานที่รับผิดชอบสูง เพื่อหาเงิน (Money) ให้ได้มากๆ หรือเลือกงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยลงหน่อย แต่ได้เวลากลับคืนมาให้ครอบครัว (Happiness) มากขึ้น
  • บางคนอาจจะค้นพบว่า การที่พวกเขาได้กลับภูมิลำเนาเดิมที่ไม่ใช่ในเมืองในช่วงที่เกิดวิกฤติ พวกเขาก็ยังสามารถปรับตัวจนทำงานผ่านเครื่องมือออนไลน์ได้ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่ที่ไหน (Remote working) การที่ต้องกลับมาเข้าออฟฟิศในเมืองอีกครั้ง อาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการอีกต่อไป
  • พนักงานบางคนอาจจะรู้สึกดีกับการ Work from home เนื่องจากการไม่ต้องเดินทางไปทำงาน นอกจากจะลดเวลาที่สูญเปล่าในการเดินทางได้แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกทางหนึ่ง
  • พนักงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในช่วงวัย Millennials กับ GenZ ที่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานมาเป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญก็คือพวกเค้าต้องการค้นหาความสมดุลของชีวิต 
  • พนักงานบางคนอาจจะอยากเติบโตในสายงานเดิม หรือมองหาสายงานใหม่ (Career) ในธุรกิจที่กำลังเติบโต (Sunrise business)

กรณีศึกษา : องค์กรยุคใหม่จะปรับตัวยังไงเพื่อให้สามารถจูงใจพนักงานอยู่กับเราได้นานๆ

แม้ว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันในออฟฟิศโดยตรง แต่หลายๆ องค์กร โดยเฉพาะภาคธุรกิจใหญ่ ต่างก็ปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานแบบ Work from home ไม่ว่าจะเป็นช่วงการระบาดของ COVID-19 หรือหลังจากที่วิกฤติคลี่คลายไปแล้วแต่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการทำงาน โดยมีการยกตัวอย่าง ดังนี้

กรณีศึกษาบริษัท Facebook

บริษัท Social Media ยักษ์ใหญ่ของวงการ ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “Portal+” มีไว้สำหรับประชุมออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอคอลโดยเฉพาะ ซึ่งทาง Facebook เองก็ไดมีการแจกอุปกรณ์ตัวนี้ให้กับพนักงานแทบทุกคนในช่วง WFH นอกเหนือไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานตามปกติ เพื่อลดความไขว้เขวในการสื่อสารบนอุปกรณ์ชิ้นเดียว แน่นอนว่าการลงทุนในครั้งนี้ Facebook เองก็ได้คิดเผื่อระยะยาว ที่จะดำเนินการปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น

กรณีศึกษาบริษัท Persol Career Co.

ธุรกิจจัดหางานสัญชาติญี่ปุ่น ได้มีการปรับระบบขององค์กรไปใช้ IBM Blockchain Platform ซึ่งเป็นเครือข่ายสำหรับเก็บข้อมูลบนโลกดิจิทัลแบบกระจายอำนาจ (Decentralized) โดยข้อมูลทุกอย่างจะไม่ถูกเก็บอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว ซึ่งทาง Persol Career Co. ได้นำเอาระบบนี้ไปใช้สำหรับแชร์เอกสารทั้งองค์กรแบบ Real-time เพื่อความรวดเร็วและความปลอดภัยของข้อมูลบุคลากรที่มีจำนวนมากได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเชื่อถือได้

กรณีศึกษาบริษัท Bangchak Corporation

ฝ่ายบุคคลของบริษัท บางจาก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา ได้มีการปรับใช้ระบบ Oracle Human Capital Management (HCM) ของทาง Oracle ซึ่งจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเอาไว้บนระบบ Cloud โดยทีมงานทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารและชุดข้อมูลที่จำเป็นได้แบบ Real-time ระหว่างการประชุมที่ต้องการตัดสินใจบางอย่างร่วมกันได้ง่ายขึ้น ทำให้การทำงานไร้รอยต่อมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี เมื่อองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมากหันมาเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานให้มากขึ้น

รวมเทคนิคของ HR ในการค้นหาบุคลากรรายใหม่ (Recruit) เข้ามาทำงาน เมื่อต้องสัมภาษณ์แบบ Work from home 

ใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อคัดกรองผู้สมัคร (Use personality test.)

เมื่อไม่ได้เจอหน้ากันโดยตรง การตรวจสอบนิสัยและพฤติกรรมในการทำงานก็ทำได้ยากขึ้น ทาง GetLinks จึงได้แนะนำว่า หากเป็นการคัดคนเข้ามาทำงานในองค์กรช่วง Work from home ทาง HR ควรนำเอาแบบทดสอบบุคลิกภาพ (Personality test) มาประยุกต์ใช้เพื่อคัดกรองผู้สมัครงาน เพื่อค้นหาบุคลากรที่มีลักษณะนิสัยสอดคล้องกับหัวหน้างาน หรือทีมงานที่ทำอยู่ก่อนแล้วให้มากขึ้น

เพิ่มทางเลือกในการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน (More appraisal options.)

เพื่อให้การจ้างงานและค้นหาบุคลากรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นหาคนทำงานแบบ Work from home ทาง HR อาจให้ทางเลือก (Option) กับหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้จ้างว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่าประสิทธิภาพการทำงานหรือบุคลิกภาพไม่สอดคล้องกัน หัวหน้างานสามารถเลือกยุติการทำงานร่วมกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อ KPI ของทั้ง HR และหัวหน้างาน 

เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นออฟฟิศจริงจังในเวลาทำงาน (Home as a new office.)

แม้ว่าจะเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน แต่ทุกๆ การประชุมและการสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น HR ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน โดยจะต้องเปิดกล้อง Webcam ทุกครั้งเมื่อมีการประชุมหรือพูดคุยผ่านทางออนไลน์ (พร้อมกับเลือกภาพฉากหลังที่ให้ความรู้สึกจริงจัง และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์องค์กร) แน่นอนว่าควรแต่งกายให้เหมาะกับรูปแบบการทำงาน แม้จะอยู่ที่บ้านก็ตาม

ยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลสู่ยุคใหม่ (Rethinking HR.)

HR ควรเป็นหนึ่งในผู้ที่คอยผลักดัน และแชร์เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับให้กับการทำงานภายในแผนก ไปจนถึงการวางมาตรฐานให้พนักงานทุกคนสามารถใช้งานแพลตฟอร์มหรือระบบที่มีความยืดหยุ่นร่วมกันทั้งองค์กร เช่น การนำเอา Cloud service เข้ามาใช้ในการแชร์เอกสาร เป็นต้น

คิดค้นหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กร (Reinventing employee experience.)

ให้ความสำคัญกับ Work life balance ของพนักงานแต่ละคน ควรหมั่นเช็กสถานะความสัมพันธ์ของแต่ละทีมว่าช่วงนั้นเป็นอย่างไร อาจมีการสร้าง Event หรือแชร์คอร์สออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรร่วมกันได้ผ่านช่องทาง เครื่องมือ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ