hero-image

วัคซีน COVID-19 แตกต่างกันอย่างไร ควรฉีดเลยหรือไม่ ระยะเวลาป้องกันมากน้อยแค่ไหน ให้คุณหมอช่วยไขข้อข้องใจที่นี่

ในช่วงนี้ (พฤษภาคม 2564) สถานการณ์ของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยยังไม่มีความแน่นอน ตัววัคซีนที่เป็นความหวังเองก็ยังมีข้อสงสัยมากมายที่ต้องการคำตอบ ด้วยเหตุนี้เอง ซันเดย์ จึงได้สอบถาม พ.ญ. ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน อายุรแพทย์ชำนาญการโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรา เพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมดเกี่ยวกับ วัคซีน COVID-19 มาให้ทุกคนได้รับรู้กัน เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจในการรับวัคซีน COVID-19 ได้อย่างเต็มที่

*เรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดมาจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

Table of Contents

คำถามแรกคือ คุณหมอคิดว่า COVID-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน?

COVID-19 เกิดขึ้นจากไวรัสที่อาศัยอยู่ภายในช่องทางการหายใจของเรา ไวรัสตัวนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะอยู่กับมนุษย์เราไปอีกนาน เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องหายใจอยู่ตลอดเวลา และเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไวรัสตัวนี้พอทำให้เกิดโรคในคนก็จะทำให้เกิดอาการได้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่มีอาการเลยแต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้ในขณะที่ใช้ชีวิตตามปกติ คนที่มีอาการแค่เล็กน้อยเหมือนกับเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ ไปจนถึงคนที่มีอาการรุนแรง มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หนาวสั่น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ซึ่งทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยากเพราะแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าเราป่วย

นอกจากนั้นตัวไวรัส COVID-19 จะไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง มันจำเป็นต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่อาศัย ซึ่งพอตัวไวรัสเข้ามาอยู่ในร่างกายเรา เพื่อความอยู่รอดเลยมีการกลายพันธุ์ให้ตัวเองมีความสามารถมากขึ้น สามารถแบ่งตัวได้เร็วขึ้น ผลลัพธ์ก็คือ COVID-19 มีแนวโน้มจะอยู่กับคนได้นานขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบันนี้ มีวัคซีนกี่ชนิดแล้ว แต่ละชนิดเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง?

ถ้าจะให้พูดถึงวัคซีนที่มีการพัฒนาออกมาจริงๆ แล้ว ทั่วโลกตอนนี้มีเป็น 100-200 ชนิดเลย แต่ว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและได้ผลดีนั้น จะมีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน นั่นคือ

  1. วัคซีนประเภท mRNA เมื่อถูกฉีดเข้าร่างกาย จะเข้าสู่เซลล์ของเรา ไปที่โรงงานผลิตโปรตีน ถอดรหัสเพื่อสร้าง Spike Protein เลียนแบบไวรัส
  2. วัคซีนประเภท Viral Vector ถูกสร้างขึ้นโดยการนำเอา Adenovirus มาตัดต่อเอารหัสพันธุกรรมที่สร้าง Spike Protein ของ SAR-COV-2 ใส่เข้าไปใน DNA ของ Adenovirus เมื่อถูกฉีดเข้าร่างกาย DNA จะเข้าสู่ Nucleus ถอดรหัสเป็น mRNA ที่จะถูกนำไปสร้างเป็น Spike Protein อีกที
  3. วัคซีนประเภท Protein Base เกิดขึ้นจากการตัดต่อพันธุกรรมไวรัส และเลี้ยงไวรัสในเซลล์ทดลองจนสามารถสร้าง Spike Protein ออกมา เมื่อนำมาทำให้เชื้อคงตัวก็สามารถนำมาใช้งานได้เลย
  4. วัคซีนประเภท Inactivate คือ วัคซีนที่สร้างขึ้นมาจากเชื้อที่ตายแล้ว ทำโดยนำเอาไวรัสมาเลี่ยงแล้วทำให้ตายด้วย Beta-propiolactone จากนั้นนำมาฉีดเพื่อเลียนแบบการติดเชื้อธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกในขณะนี้มีวัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ใช้ก่อนทั้งหมด 10 ยี่ห้อ แบ่งเป็น

  • ประเภท mRNA 2 ชนิด คือ 1. Pifzer-BioNtech 2. Moderna
  • ประเภท Viral vector 3 ชนิด คือ 1. Oxford-AstraZeneca 2. Sputnik V 3. CanSinoBio
  • ประเภท Protein base 1 ชนิด คือ 1. Vector Institute Russia
  • ประเภท Inactivate 4 ชนิด คือ 1. Sinovac 2. Sinopham/BIBP 3. Sinopharm/WIBP 4. Bharat-Biotech

ซึ่งวัคซีนทั้งหมดนี้มีการอนุญาตให้ใช้ในประชากรทั่วไปโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และมีการเฝ้าติดตามประสิทธิผล รวมถึงผลข้างเคียงของวัคซีน (ไม่รวม Phase 3 อีก 20 ยี่ห้อที่อยู่ในระหว่างการทดลอง) ซึ่งในสมัยก่อนเราจะใช้เวลา 10-15 ปีขึ้นไป ในการที่จะนำเอาวัคซีนออกมาใช้จริงกับมนุษย์ แต่ว่าในยุคที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสนั้น วัคซีนก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะหยุดการระบาดได้ ดังนั้นในวงการแพทย์และวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงได้ตกลงกันให้เร่งกระบวนการเพื่อให้ทำการทดลองวัคซีนให้เร็วขึ้น

วัคซีน COVID-19

แล้วประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดนี่มีมากหรือน้อยแค่ไหน?

จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ เราจะเห็นได้ว่าวัคซีนบางตัวมีประสิทธิภาพสูงถึง 95% เลย อย่างตัวเลขนี้

  • Pfizer-BioNtech มี Efficacy อยู่ที่ 95%
  • Moderna มี Efficacy อยู่ที่ 94%
  • AstraZeneca มี Efficacy อยู่ที่ 70%
  • Sputnik V มี Efficacy อยู่ที่ 90%
  • Sinovac มี Efficacy อยู่ที่ 50-91%

นั่นหมายถึงค่าสถิติจากการทดลอง (Efficacy) ซึ่งใช้สำหรับวัดผลของวัคซีนโดยเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีน กับอีกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้น โดยที่มีการควบคุมปัจจัยด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ ขนาดของประชากร รวมถึงโรคประจำตัวต่างๆ ด้วย นำมาคำนวนกัน แต่ผลที่ออกมาในชีวิตจริงที่เราจะใช้วัดประสิทธิภาพของวัคซีนกับกลุ่มประชากรทั่วไป เราจะเรียกว่าประสิทธิผล (Effectiveness) ซึ่งจะเป็นการวัดตามหลังมา ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากการวัดกับกลุ่มทดลองอยู่บ้าง เพราะเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยด้านอายุ เชื้อชาติ โรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งตัวประสิทธิผลนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดอาการอะไรกับร่างกายของเราบ้าง?

อันที่จริงแล้วก่อนหน้าที่หลายๆ ประเทศจะรับรองให้ใช้วัคซีน เขาจะต้องมีการตรวจสอบดูว่าผลข้างเคียงของการได้รับวัคซีนมีโอกาสเกิดการแพ้รุนแรงเท่าไหร่ ซึ่งจะแบ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดทันที และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดไปซักระยะแล้ว ซึ่งจากการวิจัยพบว่าวัคซีนกลุ่มที่มีประวัติการแพ้ง่ายและรุนแรงอยู่ก่อน วัคซีน Pfizer จะมีโอกาสที่จะแพ้อยู่ที่ประมาณ 11 คนใน 1 ล้านคน ส่วนวัคซีน Moderna จะอยู่ที่ประมาณ 2.5 คนใน 1 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ส่วนอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยหลังฉีด ก็จะเป็นการรู้สึกเจ็บในบริเวณที่ฉีด มีอาการปวดศรีษะ เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย บางคนอาจจะมีไข้สั้นๆ ประมาณ 1-2 วัน

วัคซีน COVID-19

แล้วระยะเวลาของตัววัคซีนในการป้องกัน COVID-19 นั้นจะยาวนานแค่ไหน?

ข้อมูลในปัจจุบันนั้นเป็นการใช้งานวัคซีนอย่างเร่งด่วน ทำให้ยังไม่ได้มีการศึกษาเพื่อยืนยันข้อมูลระยะเวลาที่แน่ชัด แต่ก็น่าจะสามารถป้องกันได้ประมาณ 5-6 เดือน แต่ก็ต้องแจ้งให้ชัดว่าหลังจากนี้ยังต้องติดตามผลกันต่อไปว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เรามีจะลดลงไปในเวลาเท่าใด และคนที่ได้รับวัคซีนไปมีการติดเชื้อซ้ำในสายพันธุ์เดิมหรือเปล่า

ถ้าเรามีโอกาสได้ฉีดวัคซีน เราควรจะฉีดเลยไหมหรือรอก่อน?

หมอแนะนำว่าควรฉีดเอาไว้ก่อนได้เลยโดยไม่ต้องกังวล เพื่อลดอัตราการป่วยรุนแรง ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพในกลุ่มทดลองจะเทียบกับประสิทธิภาพในชีวิตจริงไม่ได้ แต่ในผลที่ออกมาซึ่งมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง บอกได้เลยว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยรุนแรงจาก COVID-19 ได้ ซึ่งจากกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไป ยังไม่ได้รับรายงานว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วเป็นโควิดแล้วเสียชีวิต เรียกได้ว่าป้องกันเสียชีวิตได้ ณ ตอนนี้คือ 100%

หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว เราจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติเลยหรือเปล่า?

ความคาดหวังของคนส่วนใหญ่ก็คือหลังจากได้รับวัคซีนแล้วเราจะสามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไปเที่ยวได้ หรือไปทำกิจกรรมทางสังคมได้ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริงได้เร็วที่สุดก็คือการใช้เครื่องมือหลายๆ อย่างเพื่อลดการแพร่เชื้อให้มากที่สุด อย่างการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และเรายังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามแนวทางที่เรียกว่า New normal จนกว่าที่ทุกคนจะเกิดภูมิคุ้มกัน และทำให้เราสามารถอยู่กับโควิดได้อย่างสบายใจมากกว่านี้ 

สุดท้ายนี้อยากให้คุณหมอฝากอะไรทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันตัวเองจาก COVID-19

ตอนนี้วัคซีนคือความหวังของมนุษย์ชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้ถ้าเรามีโอกาสได้ฉีดวัคซีน เราก็ควรจะพิจารณาฉีดได้เลยตามลำดับความเสี่ยง ซึ่งทางมาตรการของภาครัฐก็จะมีการติดตามเรื่องผลข้างเคียงอยู่เป็นระยะ แต่ทั้งนี้ แม้วัคซีนจะเป็นเครื่องมือที่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้จริง แต่ว่าเราก็ต้องไม่ละเลยเรื่องการปฏิบัติตนเบื้องต้น อย่างเช่นการสวมหน้ากาก การล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้แล้ว การทำเช่นนี้ยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

หากคุณสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย หรือประกันไฟท์โควิด คลิก https://easysunday.com/health/covid-19

สามารถฟังบทสัมภาษณ์จากคุณหมอเต็มๆ ได้ทีนี่ คลิก https://youtu.be/MaWKuM5mCUA